ในระยะประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสนำพาชาวคณะไปทำบุญหลายอย่าง หลายที่ หลายแห่ง ในการทำบุญแต่ละครั้งได้มีโอกาสพบเห็นเรื่องแปลก ๆ ขำขันมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องการทำบุญแล้วขอใบอนุโมทนาบัตรไปลดหย่อนภาษี
มีชาวพุทธอยู่ประเภทหนึ่ง เมื่อทำบุญแล้วมักจะขอใบอนุโมทนาบัตร เมื่อถามว่า “ขอไปทำไม ?” ก็ตอบว่า “ขอไปลดหย่อนภาษี” บางคนก็ตอบว่า “ขอไปเป็นที่ระลึก” บางคนก็ตอบว่า “ขอไปเป็นหลักฐานให้เพื่อนดูว่าทำบุญมาจริง ๆ” บางคนโทรมาถามก่อนว่า “ทำบุญแล้วจะได้ใบอนุโมทนาบัตรหรือไม่” ถ้าได้ก็จะทำ ถ้าไม่ได้ก็จะไม่ทำ
ความจริง ถ้าเป็นนิติบุคคลทั่วไป หากทำบุญแล้วได้ใบอนุโมทนาบัตร ไม่ควรนำไปเพื่อลดหย่อนภาษี เพราะจะทำให้ได้บุญลดลง เช่น หากทำบุญ 2,000 บาท แล้วนำใบอนุโมทนาบัตรไปลดหย่อนภาษีได้ 100 บาท หากทำอย่างนั้น แสดงว่าทำบุญและได้บุญจริง ๆ 1,900 บาทเท่านั้น หากทำอย่างนั้น สู้บริจาคเพียงแค่ 1,900 บาทแล้วไม่ต้องเอาใบอนุโมทนาบัตรไปลดหย่อนภาษีจะดีกว่า สะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า
การนำใบอนุทนาบัตรไปลดหย่อนภาษี เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ถ้าจะนำไปเพื่อประกอบพิจารณาผลงานหรือขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ถือว่าไม่เป็นไร หรือหากเป็นบริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ บริจาคทรัพย์แล้วนำไปลดหย่อนภาษี ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด เป็นการลดต้นทุน การประชาสัมพันธ์ และเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่บริษัท
การเสียภาษีให้รัฐ ทางธรรมเรียกว่า “ราชพลี” ถือว่าเป็นการทำบุญชนิดหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก สำคัญและจำเป็นพอ ๆ กับการทำญาติพลี (การบำรุงญาติ) อติถิพลี (การต้อนรับแขก) ปุพพเปตพลี (การทำบุญอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับ) และเทวตาพลี (การทำบุญอุทิศให้เทวดา)
ข้อเสนอแนะ
๑. ไม่ควรนำใบอนุโมทนาบัตรไปลดหย่อนภาษี
๒. ไม่ควรหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้รัฐ
๓. ไม่ควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับใบอนุโมทนาบัตรมากนัก
๔. ควรเก็บใบอนุโมทนาบัตรไว้เฉย ๆ เพื่อเป็นที่ระลึกว่าทำบุญแล้ว
๕. หากทำบุญแล้วไม่ได้ใบอนุโมทนาบัตร ก็ไม่ควรตีโพยตีพาย
๖. หากนำใบอนุโมทนาไปลดหย่อนภาษีได้แล้ว ต้องนำเงินจำนวนนั้นไปทำบุญอย่างอื่นต่อ บุญจึงจะไม่ลดลง